Last updated: 11 ธ.ค. 2564 | 523 จำนวนผู้เข้าชม |
วิธีแก้ดินเค็มในระดับต่างๆ
มาต่อกัน เรื่องวิธีแก้ดินเค็มปุ๋ย สำหรับไม้กระถางกัน เริ่มกันที่ ระดับ 5 นะครับ (อิงมาจากตอนที่แล้ว)
ระดับ 5 ดินเริ่มเสียสมดุลย์ ระดับนี้ส่วนมากจะเจอเป็นเคสโอเวอร์โดสไนโตรเจนบ่อยๆ ถ้าเป็นกุหลาบอาจมีอาการกิ่งยืด กิ่งเล็กบาง ใบเล็ก ใบบางลงไม่แข็งแรง แมลงและโรครุมเร้า
วิธีแก้ =งดปุ๋ยทางดิน รดน้ำมากหน่อยเพื่อเจือจางความเข้มข้นของปุ๋ย จะเพิ่มอินทรีย์วัตถุ หินภูเขาไฟ ดินญี่ปุ่น ฉางชิง หรือฮิวมิก รดพ่นที่หน้าดินด้วยก็ได้
ระดับ 6 ใบเริ่มไหม้เพราะขาดน้ำ อาการนี้ยิ่งแดดแรง อากาศแห้ง ยิ่งเป็นหนัก เพราะการสูญเสียน้ำ คายน้ำของพืชจะมีมากตามสภาพแวดล้อม
ความเค็มของปุ๋ย จะปนเปื้อนไปกับน้ำที่เรารด จากน้ำเปล่าก็กลายเป็นน้ำเกลือ ความเข้มข้นของสารละลาย(น้ำ) จะมากเกินกว่าที่พืชจะดูดซึมน้ำเข้าได้
วิธีแก้ =งดปุ๋ยทางดิน เปลี่ยนเอาหน้าดินเดิมออก เอาออกเท่าไหร่ดี =แล้วแต่ศรัทธาและอาการหนักเบาของแต่ละต้นครับ เติมดินใหม่ลงไป อย่าลืมลงกันเชื้อราด้วยนะครับ
(ที่ต้องโกยหน้าดินออกเพราะปุ๋ยตกค้างที่หน้าดินจะมากกว่าดินข้างล่าง ถ้าดินล่างๆยังดีอยู่เปลี่ยนแต่หน้าดินก็พอครับ) ตอนโกยดินออกควรเจอรากฝอยอยู่บ้าง
ระดับ 7 ใบร่วงเหลือแต่ยอด หรือแสดงอาการขาดธาตุอย่างหนัก เพราะว่าพืชไม่สามารถดูดซึมธาตุอาหารในดินได้
ความเค็มของปุ๋ย จะดูดเอาน้ำออกจากรากพืช ทำให้รากไหม้ แห้ง ดำ พืชจะลดการคายน้ำโดยการทิ้งใบล่าง แล้วพยายามเหลือยอดไว้
วิธีแก้ = ล้างราก เอาดินเก่าออกให้หมด เปลี่ยนดินใหม่ ห้ามใส่ปุ๋ยทางดินเด็ดขาด บำรุงธาตุอาหารทางใบ ผสมจางๆ จนกว่าจะเริ่มแตกใบใหม่ สัก 2 รอบ
ระดับ 8 ดินเค็มมาก พืชแสดงอาการขาดธาตุอย่างหนัก ใบไหม้ร่วง กิ่งแห้งกรอบ รากเสีย อาการหนัก
วิธีแก้ ส่วนมากพวกที่รอจนอาการมาถึงขั้นนี้ มักจะเป็นต้นไม้ใหญ่ หรือต้นไม้ที่ลงดินไปแล้ว
- การปรับปรุงกายภาพ : โกยหน้าดินเค็มๆ ออก พรวนดินดูสภาพดิน ความเแน่น ความเหนียว ความชื้นในดิน
พยายามเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน เลือกชนิดที่ไม่เค็ม เช่น มูลไส้เดือน ขุยมะพร้าวหมัก ดินร่วน ดินใบไม้(พยามยามหาอันที่ไม่ใช้ยูเรียหมักดินนะครับ)
เพอร์ไลท์ หินภูเขาไฟ วัสดุปลูกหลายๆอย่างผสมกันก็ได้ แต่ยังไม่ควรใส่ปุ๋ยทางดินเพิ่มทั้งอินทรีย์และเคมี เพราะอาจจะไปเพิ่มความเค็มในดินให้มากขึ้นก็ได้
โดยประคองอาการไว้ ให้อาหารบำรุงจางๆทางใบไปก่อน ให้บ่อยได้แต่ห้ามผสมเข้มข้น ช่วงอาการนี้ พืชจะขาดธาตุอาหารและขาดน้ำได้ง่าย เพราะระบบรากเสียหาย (ระยะหยอดน้ำข้าวต้ม)
- การปรับปรุงบำรุงดินทางด้านเคมี : ถ้ามีเครื่องวัดค่า PH EC ความชื้น Moisture วัดค่าได้เลย จะได้ปรับปรุงได้ถูกจุด รู้ว่าปัญหามาจากตรงไหน
- การปรับปรุงสมบัติทางชีวภาพ : ใส่จุลินทรีย์ที่ดิในดินลงไป พวกไตรโค บาซิลัส ชนิดต่างๆ (ค่อยๆใส่ทีละน้อยๆแต่ใส่ได้บ่อยๆเหมือนกัน) จุลินทรีย์จะพยายามปรับปรุงดิน(ถือว่าเป็นบ้านของเค้าเลยน้าา) ให้อีกทางครับ
ระวังเรื่องการรดน้ำ และการระบายน้ำ เพราะถ้าน้ำขัง หรือให้น้ำมากไป อาจทำให้รากเน่าเร็วขึ้น
- การปรับปรุงบำรุงดินด้วยระบบพืชคลุมดิน ปกติต้องถอนหญ้าทิ้ง แต่ถ้าอาการนี้ให้ ดูเแลวัชพืชหน้าดินไว้ก่อนเลย พืชพวกนี้จะทนถึกและช่วยดูดซับปุ๋ยที่เกินในดินได้ดี
- สายมูก็บอกเทวดาให้ช่วยดูแลด้วย อิอิ
ระดับ 9 เค็มระดับดินเสีย แตกระแหง เป็นคราบเกลือขาวๆที่หน้าดิน พืชไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
อาการนี้ให้นึกถึงการดองไข่เค็มด้วยน้ำเกลือ (น้ำ+เกลือ) จะเข้าไปภายในเซล์ แทรกซึมเข้าไปทุกอณู จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตทุกอย่างในดินตายเรียบ ต้นไม้ก็ไม่รอด
วิธีแก้ = ล้างราก ตัดรากเสีย เปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถาง บำรุงทางใบ อาจจะเอาไปอบ ล่อราก ก็แล้วแต่ความสะดวกนะครับ
แล้วรอวัดใจกับความเสียหายของพืชว่าจะรอดมาได้ รึ จะกลับดาว!
อ้างอิง
- ngthai.com
- wikimedia.org
- กลุ่มวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดิน กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7 ส.ค. 2562
7 ส.ค. 2562